
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ห่วงลูกจ้างต่างด้าว แรงงานประมงเสี่ยงโควิด-19 ส่งเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจนายจ้างให้จัดมาตรการป้องกันตามที่รัฐกำหนด และกำกับดูแลลูกจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในปัจจุบันยังพบว่ามีสถานประกอบกิจการบางแห่งยังขาดการจัดมาตรการและการกำกับดูแลที่รัดกุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคทางด้านภาษาทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่เข้าใจมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐได้เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มของสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานต่างด้าว กสร. ได้ให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปทำความเข้าใจกับนายจ้างในการจัดมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 แก่แรงงานต่างด้าว โดยให้นายจ้างจัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าใจง่าย รวมไปถึงจัดมาตรการและกำกับดูแลให้แรงงานต่างด้าวที่พักอาศัยในที่พักที่นายจ้างจัดให้ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐกำหนด เช่น เว้นระยะทางกายภาพ (Physical Distancing) งดเว้นการชุมนุมสังสรรค์ และไม่ออกจากพื้นที่ในเวลาที่กฎหมายกำหนด
อธิบดีกสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนายจ้างในกิจการประมงทะเลซึ่งมีสภาพการทำงานที่แตกต่าง และมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ขอให้นำมาตรการของทางภาครัฐไปปรับใช้ให้เหมาะสม เช่น การให้ความรู้แก่ ผู้ควบคุมเรือ ลูกจ้างในการป้องกันดูแลตนเองและสถานที่ปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรองลูกจ้างก่อนปฏิบัติงาน เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3
สรพ.6 ร่วมมาตรการป้องกัน COVID-19 ลูกจ้างสามารถร้องเรียนนายจ้างผ่านแบบฟอร์มคำร้องเรียนงานตรวจแรงงานผ่าน QR Code ได้เแล้ววันนี้
นายสายชล แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 6 กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐบาลมีมาตรการ Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม คือการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่นๆ ภายในสังคม รวมถึงลดการออกไปในสถานที่โดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ การไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น สรพ.6 จึงได้จัดทำแบบฟอร์มคำร้องเรียนงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนสำหรับลูกจ้างซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่กับนายจ้าง/สถานประกอบกิจการ และได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในพื้นที่เขตคลองสาน เขตธนบุรี เขตบางพลัด เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางกอกน้อย โดยลูกจ้างสามารถร้องเรียนนายจ้าง/สถานประกอบกิจการ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกจ้าง และลดอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามนโยบายของรัฐบาล